พระประวัติ ของ เจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1

ราชตระกูลจากราชวงศ์เวียงจันทน์

เจ้าจอมแว่นเป็นเจ้านายราชวงศ์เวียงจันทน์องค์แรกที่เชื่อมสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์จักรีของสยาม เดิมเป็นชาวนครหลวงเวียงจันทน์ สันนิษฐานว่าประสูติที่เมืองพานพร้าว (พันพร้าว หรือ ธารพร้าว) ปัจจุบันคือ ต.พันพร้าว จ.หนองคาย ตรงข้ามนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นธิดาพระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวศักดิ์ หรือ ท้าวพัน) เจ้าเมืองขอนแก่นหรือผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นองค์แรก พระนครศรีบริรักษ์เป็นต้นสกุลเสนอพระ นครศรีบริรักษ์ แพนพา อุปฮาด สุนทรพิทักษ์ ฯลฯ ใน จ.ขอนแก่น เจ้าจอมแว่นเป็นพระนัดดาเจ้าแสนปัจจุทุมหรือท้าวแสนแก้วบุฮม บ้านเพี้ยปู่ เมืองธุรคมหงส์สถิต (เมืองทุละคม) นครหลวงเวียงจันทน์[3] เป็นพระราชปนัดดาสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร) พระมหากษัตริย์แห่งนครหลวงเวียงจันทน์ และเป็นพระราชนัดดา (หลานลุง) เจ้าแก้วมงคล (เจ้าแก้วบุรม) ผู้สร้างเมืองท่งศรีภูมิ ปัจจุบันคือ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด บ้างว่าพระนครศรีบริรักษ์ (ศักดิ์) บิดาเป็นบุตรพระรัตนวงศามหาขัติยราช (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงศาฯ เป็นอนุชาพระยาขัติยวงศ์พิสุทธิบดี (สีลัง ต้นสกุล ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ทั้ง 2 เป็นบุตรพระขัติยวงศา (ทนต์ หรือ สุทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดองค์แรก และมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาเจ้าแก้วมงคล ทัศนะนี้เจ้าจอมแว่นจึงเป็นพระราชปนัดดาเจ้าแก้วมงคล ราชตระกูลฝ่ายบิดาเจ้าจอมแว่นปกครองเมืองขอนแก่นตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนปฏิรูปการปกครองยกเลิกระบบกินเมืองหลัง พ.ศ. 2444 ราชวงศ์และกลุ่มเครือญาติเป็นต้นตระกูลสำคัญของภาคอีสานหลายสายและแยกย้ายตั้งบ้านเมืองในหัวเมืองลาวมากถึง 23 หัวเมืองคือ เมืองท่ง (ท่งศรีภูมิ) เมืองสุวรรณภูมิราชบุรีประเทษราช (สุวรรณภูมิ) เมืองร้อยเอ็ดราชบุรีศรีสาเกต (ร้อยเอ็ด) เมืองชลบถวิบูลย์ (ชลบถ) เมืองขอนแก่น เมืองเพี้ย (บ้านเมืองเพี้ย) เมืองรัตนนคร เมืองมหาสารคาม เมืองศรีสระเกษ เมืองโกสุมพิสัย เมืองกันทรวิชัย (โคกพระ) เมืองวาปีปทุม เมืองหนองหาร (หนองหานน้อย) เมืองโพนพิสัย (โพนแพง) เมืองพุทไธสงค์ เมืองเกษตรวิสัย เมืองพนมไพรแดนมฤค (พนมไพร) เมืองธวัชบุรี เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (บ้านเมืองเสือ) เมืองจตุรพักตรพิมาน (บ้านเมืองหงษ์) เมืองขามเฒ่า เมืองเปือยใหญ่ (บ้านค้อ) และเมืองน่าน (นันทบุรี) [4]

พี่น้อง

เจ้าจอมแว่นมีพี่น้องร่วมบิดา 5 ท่านคือ

1. เจ้าจอมแว่น (คำแว่น)

2. พระนครศรีบริรักษ์ (จาม) เจ้าเมืองขอนแก่น

3. ท้าวผาม

4. เพียวรบุตร กรมการเมืองขอนแก่น บิดาพระยานครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร (อุ หรือ อู๋ ต้นสกุล นครศรีบริรักษ์ ) เจ้าเมืองขอนแก่นองค์สุดท้าย ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นท่านแรก และจางวางราชการเมืองขอนแก่น

5. หญิงไม่ปรากฏนาม หม่อมในพระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง หรือ คำบัง) เจ้าเมืองขอนแก่น[5]

เชลยศึก

เดิมเจ้าจอมแว่นอาศัยอยู่กับบิดาที่นครหลวงเวียงจันทน์แต่ครั้งบิดาบรรดาศักดิ์เพียเมืองแพนกรมการเมืองธุรคมหงส์สถิต ทำราชการขึ้นราชอาณาจักรเวียงจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร) ต่อมาบิดาเลื่อนเป็นเจ้าเมืองรัตนนคร[6] พ.ศ. 2321 เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ร. 1) เป็นแม่ทัพยกทำลายนครหลวงเวียงจันทน์พร้อมกวาดต้อนครัวลาว พระราชโอรส พระราชธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางท้าวเพีย และทรัพย์สมบัติสิ่งของศาสตราวุธ ช้างม้าเป็นอันมากมาธนบุรี พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระบาง และพระพุทธรูปมีค่าจำนวนมากของลาวถูกอัญเชิญมาสยามในสงครามครั้งนี้ด้วย เจ้าจอมแว่นในฐานะเชลยศึกจึงตามเสด็จสู่แผ่นดินสยามเช่นกัน[7] ฝ่ายเพียเมืองแพนบิดาอพยพพลข้ามโขงตั้งบ้านเรือนกระจายหลายแห่งในภาคอีสานคือ บ้านโพธิ์ตาก (ปัจจุบันคือ บ.โพธิ์ตาม ต.บ้านกง อ.เมืองขอนแก่น) บ้านยางเดี่ยว บ้านโพธิ์ศรี (ปัจจุบันคือ บ.โพธิ์ศรี ต.บ้านโน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น) บ้านโพธิ์ชัย (ปัจจุบันคือ บ.โพธิ์ชัย อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น) จากนั้นอพยพพลบางส่วนมาตั้งที่บ้านชีโหล่นแขวงเมืองท่ง (สุวรรณภูมิ) แล้วอพยพไพร่พลตั้งเป็นเมืองเพี้ยที่บ้านโนนกระยอม (ดอนพยอม)[8] (ปัจจุบันคือ บ.เมืองเพี้ย ต.เมืองเพี้ย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น) 9 ปีต่อมา พ.ศ. 2331 จึงพาไพร่พลประมาณ 330 คนขอแยกตัวจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งที่ฝั่งบึงบอน[9]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1 http://bangkrod.blogspot.com/2011/12/blog-post_27.... http://ps8921.blogspot.com/2011/09/blog-post.html http://www.chalaom.com/forums/?topic=263.10;wap2 http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cac... http://www.khonkaenjob.com/khonkaenjob2.html http://pantip.com/topic/32458543 http://2g.pantip.com/cafe/library/topic/K8512326/K... http://board.postjung.com/783480.html http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply... http://www.sujitwongthes.com/2011/02/